ศาลพิพากษา บิ๊กตู่ ละเลยหน้าที่ แก้ปัญหาฝุ่นล่าช้า

เมื่อวันที่ (10 กรกฎาคม 2566) จากสำนักข่าว มติชน รายงานว่า ศาลปกครองเชียงใหม่ โดย น.ส.พิชญ์ณัฎฐ์ ตุลาการผู้แถลงคดี อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 2/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 2/2566 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่

ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ระหว่าง นายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี กับ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยศาลปกครองระบุว่า

นายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.สุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566

ซึ่งนายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สั่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรทำฝนหลวงเพื่อดับควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เพื่อให้ฝุ่นเบางบางลง และประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหา เป็นเขตภัยพิบัติทั้งจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาได้ และอย่านิ่งเฉยต่อปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยทำให้เป็นวาระแห่งชาติอันดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ จากการไต่สวนจาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาระบุว่า เนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจริง ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จนเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ ตามคำชี้แจงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตที่ 1 เชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใด เพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขมลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่ในค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมากหรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก